เยาวชน PTTEP Teenergy สร้างสรรค์ “ถ่านมีชีวิต” แก้ปัญหาน้ำเสีย

เยาวชน PTTEP Teenergy สร้างสรรค์ “ถ่านมีชีวิต” แก้ปัญหาน้ำเสีย

ปัญหาหมอกควันในภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบันปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปและมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เว็บไซต์ AirVisual ซึ่งจัดอันดับค่าดัชนีคุณภาพอากาศทั่วโลก (World AQI Ranking) เคยรายงานตัวเลขที่ระบุว่าจังหวัดเชียงใหม่มีค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ในบางช่วงสูงกว่าระดับ 100 แสดงถึงความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐาน และคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน


นอกจากปัญหามลพิษทางอากาศแล้ว เชียงใหม่ยังต้องเผชิญกับมลพิษทางน้ำที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกวันอีกด้วย สาเหตุมาจากการทิ้งขยะลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่มีสาหร่ายสีเขียวขึ้นเต็มไปหมด จนน้ำขาดออกซิเจน ส่งผลให้ปลาตายเป็นจำนวนมาก ระบบนิเวศของน้ำบริเวณรอบคูเมืองเสียหาย

เยาวชนในท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งมองเห็นปัญหาดังกล่าวและไม่นิ่งดูดาย อยากเข้ามาช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นโครงการ “ถ่านมีชีวิต” เพื่อแก้ปัญหามลพิษอย่างยั่งยืน โดยนางสาวนิพัทธา กาพย์ตุ้ม หรือน้องปิ่นไพร โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เล่าให้ฟังว่า “หนูอยู่ที่นี่เกิดที่นี่ ได้เห็นปัญหามลพิษในเชียงใหม่มานานแล้ว ปัญหาน้ำเน่าในคูเมืองเกิดขึ้นทุกปี หนูจึงอยากให้เมืองของหนูมีมลพิษน้อยลงและน่าอยู่มากขึ้น เพราะถ้าเชียงใหม่อากาศดี น้ำในคูคลองสะอาด มลพิษน้อยลงแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะประทับใจ และมาเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองเชียงใหม่ก็จะดีขึ้นด้วย

“หลังจากที่หนูและเพื่อนได้มีโอกาสเข้าค่ายโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. และเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปภายใต้แนวคิดเปลี่ยนเพื่อโลก (Change for Climate) หนูได้คิดและนำเสนอโครงการ“ถ่านมีชีวิต” ร่วมกับเพื่อนๆ ซึ่งโครงการนี้เป็น 1 ใน 10 โครงการที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนสนับสนุนจาก ค่าย PTTEP Teenergy

หลังจากที่ได้รับทุน หนูและทีมก็ได้ค้นคว้าศึกษางานวิจัยต่าง ๆ จนพบว่าที่ภาคเหนือมีการปลูกข้าวโพดจำนวนมาก แต่ซังข้าวโพดที่เหลือจากการสีเมล็ดข้าวโพดออกไปกลับถูกทิ้งอย่างไร้ประโยชน์ หนูจึงเกิดความคิดนำซังข้าวโพดมาแปรรูปเป็นถ่านด้วยวิธีการทางเคมี โดยการเผาแบบกึ่งอับอากาศหรือสภาวะไร้อากาศ (Pyrolysis) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยได้รับการสนับสนุนการเผาและการศึกษาวิจัยจากคณะวิศวกรรมอุตสาหกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้” นางสาวนิพัทธาเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

ประกอบกับเมื่อเห็นสภาพน้ำในคูเมืองเชียงใหม่เน่าเสีย จึงพยายามหาวิธีการที่จะแก้ปัญหา ซึ่ง น้องๆ สังเกตเห็นว่า ในขณะที่ในน้ำบริเวณคูเมืองเชียงใหม่ เต็มไปด้วยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน แต่ตะกอนดินบริเวณหน้าโรงเรียนกลับไม่มีสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินอยู่เลย จึงได้นำตะกอนดังกล่าวเข้าไปศึกษาในห้องทดลอง และพบว่าในดินดังกล่าวมีแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส (Bacillus.spp) อยู่จำนวนมาก และแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสนี้ สามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินซึ่งนอกจากจะเป็นสาหร่ายที่ทำให้เกิดน้ำเสียแล้ว ยังเป็นสาหร่ายที่ผลิตสารพิษไมโครซิสติน ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดตับอักเสบและเร่งการเกิดมะเร็งของตับ นอกจากจะมีผลกับคนแล้ว พิษของสาหร่ายชนิดนี้ยังมีผลโดยตรงต่อสัตว์น้ำหรือสัตว์บกที่ไปบริโภคน้ำที่มีสาหร่ายชนิดนี้ด้วย  

ดังนั้น หากจะกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินที่เป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำเสียก็จะต้องเพิ่มปริมาณแบคทีเรียสายพันธ์บาซิลัส น้องๆ จึงนำซังข้าวโพดที่เผาในสภาวะไร้อากาศแล้วกลายเป็นถ่านจากซังข้าวโพดมีลักษณะเป็นเม็ดเล็กๆ และมีรูพรุนจำนวนมาก อีกทั้ง มีสารอาหารที่ทำให้เชื้อแบคทีเรียเติบโตได้ดี  มาทำการเพาะเพื่อเพิ่มจำนวนแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส

เมื่อทดลองพบว่าแบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัสเติบโตได้ดีในถ่านที่ผลิตจากซังข้าวโพด และสามารถนำไปกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้อย่างแน่นอนแล้ว  จึงทำการทดลองเพิ่มเติมให้แน่ใจ โดยนำถ่านที่เพาะเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งน้องๆ เรียกมันว่า “ถ่านมีชีวิต” เพราะมีแบคทีเรียซึ่งจัดเป็นสิ่งมีชีวิตจำนวนมากเติบโตอยู่ในนั้น น้องๆ ได้ทดลองนำถ่านมีชีวิตบรรจุในขวดพลาสติกเหลือใช้ แล้วนำไปจุ่มแช่ในน้ำตัวอย่างที่นำมาจากบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ในห้องทดลอง พบว่าการวางทิ้งไว้ 5 วัน แบคทีเรียสายพันธุ์บาซิลัส สามารถกำจัดสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินได้หมด ไม่เกิดน้ำเน่าเสีย

ภายหลังจากการใช้ “ถ่านมีชีวิต” ดังกล่าวบำบัดน้ำเสียเรียบร้อยแล้ว ยังสามารถนำไปบดทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกพืชต่อไปได้อีกด้วย และจากการทดลองปลูกพืช ก็พบว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ พืชเจริญเติบโตได้ดีเพราะถ่านซังข้าวโพดอุดมไปด้วยแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อพืช

ในอนาคตทีมของน้อง ๆ คิดจะต่อยอดโครงการ โดยนำถ่านมีชีวิตที่ผลิตได้ไปทดลองใช้จริงสำหรับการบำบัดน้ำบริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่และจะนำผลการทดลองไปเผยแพร่ในชุมชนใกล้เคียงหรือชุมชนในบริเวณที่มีปัญหาน้ำเน่าเสีย โดยหากได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่สนใจ เชื่อว่าโครงการถ่านมีชีวิตนี้จะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถช่วยแก้ปัญหามลพิษในเมืองเชียงใหม่ได้ต่อไป

จากซังข้าวโพดกลายเป็น “ถ่านมีชีวิต” ช่วยแก้ปัญหาน้ำเสียในชุมชน คือหนึ่งในโครงการที่เยาวชนสร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจที่ได้รับจากการเข้าค่ายในโครงการ PTTEP Teenergy ของ ปตท.สผ. ซึ่งดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ 3 ป. คือ ปลูก-ปั้น-เปลี่ยน โดยเชื่อมั่นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้นอกห้องเรียน รวมถึงการปั้นเยาวชนให้มีความรู้สู่การหล่อหลอมหัวใจอนุรักษ์ และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีความพร้อมในการทำประโยชน์ให้กับสังคม จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับเยาวชนในการก้าวออกไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ ด้วยการรวมพลังความคิดและลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงให้ชุมชนและสังคมดีขึ้น

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line