สผ.- UNDP จับมือฟื้นฟูป่าพรุ-พื้นที่ชุ่มน้ำ รับมือภัยโลกร้อน

สผ.- UNDP จับมือฟื้นฟูป่าพรุ-พื้นที่ชุ่มน้ำ รับมือภัยโลกร้อน

 


สผ.–UNDP ห่วงภาวะโลกร้อน จับมือขับเคลื่อนโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าพรุ-ป่าชุ่มน้ำ แหล่งกักเก็บคาร์บอนสำคัญของโลก หลังพบพื้นที่ป่าพรุลดลง นำร่องลงพื้นที่เก็บข้อมูล “พรุควนเคร็ง” ก่อนผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ดีเดย์วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย. ปลุกคนไทยตื่นตัวสู้วิกฤตหมอกควัน ร่วมยุติไฟป่า มหันตภัยร้ายทำลายพรุ
 
ดร.รวีรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า  สผ. ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP – United Nations Development Programme) ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุ เพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF – Global Environment Facility) ทั้งนี้ สผ.น้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตรในการรักษาป่าพรุป้องกันไม่ให้ป่าพรุถูกทำลายมาปฏิบัติและดำเนินโครงการ โดยประสานความร่วมมือกับศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดคณะทำงานลงพื้นที่สำรวจข้อมูลป่าพรุทั่วประเทศ และเลือกพื้นที่โครงการนำร่องอนุรักษ์ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช มุ่งหวังผลลัพธ์ให้เกิดการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าพรุ เพิ่มศักยภาพป่าพรุในการทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอน เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำหรับพันธุ์พืชและสัตว์ที่มีความสำคัญระดับโลก และเป็นแหล่งให้บริการระบบนิเวศรวมทั้งส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับชุมชนในท้องถิ่น

ดร.รวีวรรณ กล่าวว่า ในภาวะที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ป่าพรุเป็นแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญของโลก ช่วยปรับปรุงสภาพอากาศของท้องถิ่น รักษาความสมบูรณ์ของดินและน้ำ ป่าพรุยังทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดเพื่อควบคุมไฟป่า นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นแนวกันชนจากภัยธรรมชาติ ป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าแผ่นดิน ป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง ดักตะกอนและแร่ธาตุ เป็นแหล่งอาหารและแหล่งทำกิน สร้างอาชีพให้กับชุมชนรอบผืนป่า ทั้งนี้ ป่าพรุมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงกว่าป่าเขตร้อนทั่วไป เนื่องจากดินพีต (Peat) จะมีความหนาตั้งแต่1 – 10 เมตร หรือมากกว่านั้น จึงทำให้ป่าพรุสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่า โดยป่าพรุที่มีดินพีตหนา   10 เมตรขึ้นไป จะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้มากถึง 5,800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกตาร์ ส่วนพื้นที่ป่าเขตร้อนทั่วไปกักเก็บคาร์บอนได้เพียง 300 - 800 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เปอร์เฮกตาร์ ดังนั้นการทำลาย   พื้นที่ป่าพรุจะส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่าการปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้ป่าพรุเสื่อมโทรม คือ ขาดการดูแลพื้นที่ป่าพรุดั้งเดิมและพรุที่กำลังฟื้นตัว ขาดเทคโนโลยีในการจัดการระดับน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่ป่าพรุรวมทั้งการป้องกันไฟป่า และขาดการเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของป่าพรุในการกักเก็บคาร์บอน รวมทั้งยัง ไม่มีนโยบายหรือแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับป่าพรุโดยเฉพาะ

เลขาธิการ สผ. กล่าวด้วยว่า องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อให้ทั่วโลกตื่นตัวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยในปีนี้กำหนดหัวข้อรณรงค์ภายใต้คำขวัญ “หยุดหมอกควันและอากาศพิษ เพื่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม” (Beat Air Pollution) เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองที่เป็นภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต สุขภาพ และเศรษฐกิจในภาพรวม โดยจากข้อมูลของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme: UNEP) พบว่า 9 ใน 10 ของประชากรโลกหายใจเอาอากาศที่ปนเปื้อนมลพิษเข้าไป ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 7 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 4 ล้านคนอยู่ในแถบเอเชีย-แปซิฟิก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในระดับโลกถึง 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าพรุให้สมดุลและป้องกันไม่ให้พื้นที่ป่าพรุที่เหลืออยู่ถูกทำลายลงโดยเฉพาะจากไฟป่า จะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควัน อีกทั้งป่าพรุยังจะเป็นแหล่งสำคัญในดูดซับอากาศพิษและฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้กับผู้คนโดยรอบพื้นที่อีกด้วย


 
ด้านนายเรโนด์ เมเยอร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP Thailand) กล่าวว่า ป่าพรุมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ   ป่าพรุช่วยดูดซับคาร์บอนที่จะถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศได้เป็นล้านตัน นอกจากนี้ป่าพรุยังช่วยให้ชุมชน      มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำประมงหรือการทำงานหัตถกรรม อย่างไรก็ตามป่าพรุในเขตร้อนชื้นได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ทั้งจากการพัฒนาที่ดิน การตัดไม้ทำลายป่า และไฟป่า    สาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ป่าพรุถูกทำลายในไม่ช้า สำหรับประเทศไทยป่าพรุควนเคร็งเป็นป่าพรุที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ แต่พื้นที่ร้อยละ 65 ของป่ากำลังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมัน กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก UNDP ได้ร่วมกับรัฐบาลไทยได้ให้การสนับสนุน โครงการ Maximizing Carbon Sink Capacity and Conserving Biodiversity through Sustainable Conservation, Restoration and Management of Peat Swamp Ecosystems เพื่อให้ภาคประชาสังคมใช้เทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม และแนวทางใหม่ในการจัดการป่าพรุเพื่อให้มั่นใจว่าระบบนิเวศน์ของป่าพรุจะช่วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และช่วยทำให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำเร็จได้ตลอดจนช่วยรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมมนุษย์อย่างยั่งยืน
 
 สำหรับโครงการ Maximizing Carbon Sink Capacity and Conserving Biodiversity through Sustainable Conservation, Restoration and Management of Peat Swamp Ecosystems หรือโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุเพื่อเพิ่มความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน มีเป้าหมายหลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการจัดการป่าพรุแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยหวังให้มีการริเริ่มรูปแบบการบริหารจัดการป่าพรุแบบมีส่วนร่วมของภาครัฐส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่น ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณป่าพรุควนเคร็งและพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และเอกชน ให้สามารถร่วมกันบริหารจัดการป่าพรุอย่างเป็นระบบ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อควบคุมระบบน้ำในป่าพรุควนเคร็งและการป้องกันไฟป่า มีการฟื้นฟูพันธุ์พืชท้องถิ่นที่ถูกทำลายโดยพายุหรือไฟป่า ติดตั้งระบบติดตามปริมาณคาร์บอน และพัฒนานโยบายหรือกลไก เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ป่าพรุอย่างยั่งยืน มีการจัดตั้งคณะทำงานส่งเสริมการบริหารจัดการพื้นที่ภูมิทัศน์พรุควนเคร็งแบบองค์รวม  อีกทั้ง อยากเห็นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และขยายผลเป็นวาระแห่งชาติ โดยการจัดทำร่างข้อเสนอยุทธศาสตร์ป่าพรุระดับชาติ ทั้งนี้ โครงการจะจัดแคมเปญ “โลกร้อนระอุ ป่าพรุช่วยได้” เพื่อให้สังคมตระหนักถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าพรุให้มีความยั่งยืน เตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line