ทีเส็บ ชู 4Ms ในตลาดไมซ์โลก เปิดตัวเวทีงานเทรดโชว์ ITCMA&CTW 2019

ทีเส็บ ชู 4Ms ในตลาดไมซ์โลก เปิดตัวเวทีงานเทรดโชว์ ITCMA&CTW 2019

ทีเส็บบุกเจาะกลุ่มตลาดไมซ์ ชูแพคเกจการตลาด 4 Ms ในงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 หวังดึงกลุ่มประชุมธุรกิจเข้าไทยครบทุกเซกเม้นท์ คาดทำรายได้ 5.7 หมื่นล้านในปี 63 ขณะเดียวกัน ทีเส็บร่วมมือกับไมซ์ซิตี้และผู้ประกอบการทั้ง 5 เมือง ออกมาตรการไมซ์เพื่อสิ่งแวดล้อม หวังลดปริมาณขยะลงให้ได้ 50% จนเป็นเมืองไมซ์ยั่งยืน


นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยถึงทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ในปี 2563 ว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับไมซ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจไมซ์อย่างยั่งยืน

“จากสถานการณ์โลกท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล สงครามการค้า สภาวะเศรษฐกิจที่กำลังถดถอย ภาวะเงินเฟ้อ ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ ล้วนส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับโลกขยายเป็นวงกว้าง การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ให้ไปต่อได้ตามเป้าหมายจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแสวงหาความร่วมมือในทุกระดับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด สามารถแข่งขันได้ และอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนด้วย”

ในวาระที่ประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 ซึ่งเป็นงานเทรดโชว์ด้านไมซ์ประจำปีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะเป็นเวทีธุรกิจการจัดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลระดับภูมิภาค ทีเส็บจึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะนำเสนอกลยุทธ์ส่งเสริมตลาดการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลในปี 2563 สู่สายตาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งในประเทศและนานาชาติที่มาร่วมในงานนี้

กลยุทธ์หลักประกอบด้วยส่งเสริมตลาดและการขายควบคู่ไปกับการร่วมมือกับพันธมิตรทางด้านการตลาด โดยการนำผู้ประกอบการไมซ์ไทยเจรจาธุรกิจในงานเทรดโชว์หลักด้านไมซ์ทั่วโลก ในส่วนของการสร้างพันธมิตรในปีนี้ จะเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ประกอบการท้องถิ่นโดยเฉพาะในเมืองที่มีศักยภาพ มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันมากขึ้น เช่น การจัดกิจกรรม “An Afternoon with MI…” ร่วมกับพันธมิตรระดับผู้บริหารไมซ์ เช่น โรงแรม สถานที่จัดงาน เพื่อร่วมหารือแนวทางพัฒนาสินค้าบริการใหม่ รวมถึงกิจกรรมและสถานที่ใหม่รองรับกลุ่มนักเดินทาง การประชาสัมพันธ์การจัดงานในพื้นที่ ตลอดจนจัดกิจกรรมทางการตลาดหรือแคมเปญส่งเสริมการขายร่วมกัน และความร่วมมือในการดึงการจัดงานใหม่เข้าสู่ประเทศไทย

กลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมตลาดประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล หรือ ตลาด Meetings & Incentives (MI) ยังคงให้ความสำคัญกับตลาดหลักซึ่งเป็นกลุ่มนักเดินทางไมซ์จาก ASEAN+6 (จีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น, เกาหลี,ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) และสหรัฐอเมริกา โดยมียุโรปเป็นตลาดรอง และจะขยายไปยังตลาดใหม่ในประเทศแถบยุโรปตะวันออก

ทั้งนี้ ทีเส็บจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและการขาย 4 Ms ทั้งในรูปแบบการเพิ่มการสนับสนุนและการจัดแคมเปญร่วมกับพันธมิตรกระจายสู่แต่ละกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ แคมเปญสำหรับกลุ่มประชุมที่เดินทางไปยังเมืองที่มีศักยภาพในจังหวัดต่างๆ (Meet Now) กลุ่มการประชุมขนาดใหญ่ (Meet Mega) กลุ่มประชุมตามธุรกิจภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 (Meet Smart) และกลุ่มประชุมที่จัดงานหรือทำกิจกรรมเพื่อการจัดงานอย่างยั่งยืน (Meet sustainable 2020) โดยได้รับสิทธิพิเศษ อาทิ ช่องทางพิเศษ MICE Lane การแสดงทางวัฒนธรรม ของที่ระลึก และงบประมาณสนับสนุนตามเงื่อนไขมูลค่าสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท

ทีเส็บกำหนดเป้าหมายปี 2563 จะมีนักเดินทางไมซ์ต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยโดยรวม 1,386,000 คน ทำรายได้ 105,600 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณการว่าจะเป็นตลาดธุรกิจประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล 762,000 คน สร้างรายได้ 57,000 ล้านบาท

ผู้อำนวยการทีเส็บ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและความพร้อมของเมืองในการเป็นเจ้าภาพจัดงานนานาชาติ ตลอดจนพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่อย่างเป็นระบบ (MICE Ecosystem) ให้มีจิตอาสาร่วมพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองแห่งไมซ์ที่ยั่งยืน เมืองไมซ์หลักทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ และขอนแก่น ทีเส็บประกาศความร่วมมือพัฒนา 5 เมืองไมซ์ใน 4 มิติ คือ การพัฒนาศักยภาพ องค์ความรู้ จัดอบรม ส่งเสริมข้อมูล การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่สถานที่หรือผู้จัดงาน การสนับสนุนงาน ผลักดันการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Events) และผลักดันสถานที่จัดงานให้ได้มาตรฐานความยั่งยืน ตลอดจนการติดตามประเมินผล ส่งเสริมการวัดผลการแสดงความยั่งยืนจากธุรกิจไมซ์ที่จับต้องได้

สำหรับแคมเปญแรกที่ 5 เมืองไมซ์ซิตี้ จะผลักดันร่วมกันในปีนี้ คือ “Zero Plastic Events” กำหนดเป้าหมายจำนวนขวดพลาสติกที่ใช้ในห้องประชุมในเมืองไมซ์ซิตี้ซึ่งมีปริมาณสูงถึง 17,345,674 ขวด ให้ลดลง 50% เหลือ 8,672,837 ขวด ภายใน 1 ปี

ด้วยเหตุนี้ ทีเส็บจึงร่วมกับ 5 เมืองไมซ์ซิตี้ เร่งกระตุ้นการลดใช้ขวดน้ำพลาสติกในการจัดประชุม สัมมนา และนิทรรศการในเมืองไมซ์ซิตี้ ผ่านการรณรงค์ 3 แนวทาง คือ 1) การใช้ขวดแก้ว ซึ่งเหมาะกับการประชุมระยะสั้น 1-2 วัน โดยแนวโน้มการบริโภคในปัจจุบันคือ น้ำ 1 ขวดต่อผู้ร่วมประชุม 2 ท่าน 2) การใช้ขวดน้ำพกพา เหมาะกับการประชุมที่มีระยะเวลามากกว่า 1 วัน สามารถแจกแทนของที่ระลึกและให้นำมาใช้ในการประชุมทุกวัน 3) การใช้ตู้กดน้ำ เหมาะกับการประชุมทุกประเภท แนะนำการนำภาชนะมาใช้เองของผู้เข้าประชุมหรือแก้วน้ำของสถานที่โดยงดใช้แก้วพลาสติกหรือกระดาษ  

“หากการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย จะสามารถลดการใช้ขวดพลาสติกในปริมาณดังกล่าว โดยคำนวณเป็นปริมาณคาร์บอนได้ถึง 638 ตันคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (Tonco2) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ จำนวน 70,226 ต้น และลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 30,000,000 บาท ทีเส็บมั่นใจว่าความร่วมมือนี้จะเป็นอีกก้าวสำคัญของความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ไทยไปสู่ความยั่งยืน และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในฐานะจุดหมายปลายทางไมซ์ชั้นนำแห่งเอเชีย” นายจิรุตถ์ กล่าวสรุป

ด้านการจัดงาน IT&CMA and CTW Asia-Pacific 2019 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 18 และยังได้รับสิทธิ์การจัดงานไปจนถึงปี 2563 นั้นงานในปีนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24-26 กันยายน 2562 ณ บางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ประมาณการว่าปีนี้จะมีผู้ร่วมงานทั้งสิ้น 3,000 คน จาก 61 ประเทศทั่วโลก โดยทีเส็บได้จัดสร้างคูหานิทรรศการประเทศไทย (Thailand Pavilion) เพื่อผู้ประกอบการไมซ์ไทย จำนวน 69 ราย ร่วมเจรจาธุรกิจกับผู้ซื้อจากนานาชาติ โดยมีบริษัทธุรกิจด้านการโรงแรมระดับชั้นนำทั้งของประเทศไทยและระดับโลก รวมถึงธุรกิจบริการด้านการประชุมและการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลเข้าร่วม ทั้งนี้พื้นที่รวมคูหานิทรรศการทั้งสิ้น 600 ตารางเมตร

จุดเด่นปีนี้มีพื้นที่นำเสนอนวัตกรรมใหม่ด้านไมซ์ คือ แพลทฟอร์มศูนย์ข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ - MICE Intelligence Centre เป็นศูนย์กลางความรู้ข่าวสารอุตสาหกรรมไมซ์ในรูปแบบไฟล์ดิจิทัล (Digital File) และหนังสือดิจิทัล (e-Book) รวบรวมไว้ในลักษณะห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-Library) เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าและเผยแพร่ข้อมูลไมซ์ให้กับพันธมิตร และผู้ประกอบการไมซ์, แอพพลิเคชัน BIzCONNECT เป็นแอปพลิเคชั่นที่รวบรวมทุกงานไมซ์ที่ตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ ทุกประเภทในประเทศไทยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด ตั้งแต่ข้อมูลรายละเอียดและกิจกรรมของแต่ละงานครบครัน การลงทะเบียนและซื้อตั๋วเข้างานที่ง่าย ครบ จบ ในแอปพลิเคชั่นเดียว รวมถึงโครงการ Thai MICE Connect แพลทฟอร์มรวบรวมฐานข้อมูลสินค้าบริการในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไมซ์ทั่วประเทศที่ชัดเจน ถูกต้อง แม่นยำ ครบถ้วน ด้วยการพัฒนาให้เป็น E-Marketplace ของธุรกิจไมซ์ที่สมบูรณ์แบบที่สุดครั้งแรกของไทย เปิดให้บริการตุลาคมนี้

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line