ไทยยูเนี่ยนประกาศไตรมาส 3 ปริมาณการขายโต 3.8%

ไทยยูเนี่ยนประกาศไตรมาส 3 ปริมาณการขายโต 3.8%

- ปริมาณการขายเติบโตอย่างเข้มแข็ง 3.8 เปอร์เซ็นต์ ด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น


- ยอดขายลดลง 6.8 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 31,838 ล้านบาท เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทแข็งค่ากับสกุลเงินหลักต่างๆ

- กำไรสุทธิสามไตรมาสแรกของปีเพิ่มขึ้น 4.8 เปอร์เซ็นต์ ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นท่ามกลางความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา

บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) รายงานยอดขายในช่วงไตรมาสที่ 3 อยู่ที่ 31,838 ล้านบาท  หากไม่คำนึงถึงผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว ยอดขายประจำไตรมาสลดลง 1.3 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า แต่ปริมาณการขายของบริษัทยังเข้มแข็งและเติบโตอยู่ที่ 3.8 เปอร์เซ็นต์ จากธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งและแช่เย็นและผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า

กำไรขั้นต้นประจำไตรมาสอยู่ที่ 5,077 ล้านบาท และอัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 15.9 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 15.8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกับในปีก่อนหน้า ผลการดำเนินงานเก้าเดือนแรกของปีมีกำไรจากการดำเนินงานปกติอยู่ที่ 4.2 พันล้านบาท และความสามารถในการทำกำไรที่ดีขึ้น  ท่ามกลางความผันผวนของค่าเงิน

ในช่วงสามไตรมาสแรกของปี 2562  ยอดขายจากทวีปอเมริกาเหนือมีสัดส่วนถึง 38 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายจากทวีปยุโรป 31 เปอร์เซ็นต์ ยอดขายจากประเทศไทย 13 เปอร์เซ็นต์ และตลาดอื่นๆ 18 เปอร์เซ็นต์

แม้ปริมาณการขายที่เติบโตถึง 3.8 เปอร์เซ็นต์ แต้ไทยยูเนี่ยนรายงานยอดขาย อยู่ที่ 31,838 ล้านบาท ซึ่งลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากค่าเงินสกุลหลักๆ ในการค้าได้แก่ เหรียญสหรัฐลดลง 6.9 เปอร์เซ็นต์  ปอนด์ลดลง 12 เปอร์เซ็นต์ และยูโรลดลง 11 เปอร์เซ็นต์ 

สัดส่วนของยอดขายในเก้าเดือนแรกของปีนี้ เป็นสินค้าแบรนด์ของบริษัท 42 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้น 1 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อนหน้า และที่เหลือ 58 เปอร์เซ็นต์ เป็นการผลิตสินค้าให้กับลูกค้าบริษัทต่างๆ

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปมียอดขายอยู่ที่ 14,466 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเนื่องจากราคาทูน่าที่ลดลง 17 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สามของปี 2561 และค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในการค้าของโลก

ส่วนธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและแช่เย็นมีปริมาณการขายอยู่ที่ 73,084 ตันในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นถึง 15.2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ด้วยราคาของกุ้งที่ลดลง 9.5 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ยอดขายของธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งและแช่เย็นลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 12,768 ล้านบาท แต่อัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น   ในขณะที่ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่ามียอดขายเพิ่มขึ้น 6.9 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ 4,604 ล้านบาท อีกทั้งปริมาณการขายยังเติบโตขึ้นอีก 2.6 เปอร์เซ็นต์

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ผลิตภัณฑ์ที่หลายหลายของเราได้กระแสตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณการขายของเราเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3  อย่างไรก็ดี ตลาดสกุลเงินที่ผันผวนทำให้สินค้าส่งของจากประเทศไทยต้องเจอกับสภาวะความท้าทาย  ไทยยูเนี่ยนยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ เล็งผลถึงการเติบโตในระยะยาว และพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อลดแรงกดดันในแง่ของการทำกำไร”

ไทยยูเนี่ยนยังได้ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบกับการดำเนินงานของบริษัทฯ หลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศเพิกถอนสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (GSP) สำหรับสินค้านำเข้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐฯ หลายรายการ  นอกจากนี้บริษัท จอห์น เวสต์ ฟู้ดส์ จำกัด บริษัทในเครือ ยังได้ประกาศว่า ศาลได้ตัดสินให้บริษัทไม่มีความผิดใดๆ ในข้อกล่าวหาว่าทำธุรกิจกับการประมงที่ผิดกฎหมายหรือไอยูยู คำตัดสินเป็นเครื่องพิสูจน์เป็นอย่างดีว่าไทยยูเนี่ยนยึดมั่นในนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส

นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ได้ประกาศตั้งแหล่งเงินทุน Venture Fund เพื่อลงทุนในนวัตกรรมเทคโนโลยีอาหาร เริ่มต้น 30 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลงทุนครั้งแรกกับฟลายอิ้ง สปาร์ค ผู้ผลิตโปรตีนทางเลือก อีกหนึ่งโครงการนวัตกรรมได้แก่ SPACE-F ได้คัดเลือกสตาร์ทอัพ 24 บริษัทจากทั่วโลกเข้าโครงการ ภายหลังจากเปิดตัวความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในด้านความยั่งยืน ไทยยูเนี่ยนยังคงยึดมั่นในกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนหรือ  SeaChange® ยังผลให้ใน บริษัทได้รับการจัดอันดับจากดัชนีความยั่งยืนดาวน์โจนส์ เป็นอันดับ 1 ในผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของโลก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ไทยยูเนี่ยนยังประสบความสำเร็จได้คะแนนสูงสุดที่ 100 เปอร์เซ็นไทล์ของอุตสาหกรรม สำหรับคะแนนด้านความยั่งยืนโดยรวม ปัจจุบันบริษัทติดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน

ในไดรมาสที่ 3 นี้ บริษัทยังได้ประกาศนโยบายล่าสุดในการป้องกันห่วงโซ่การผลิตอาหารจากการปลอมปนอาหารโดยเจตนา ด้วยระบบการจัดการที่เข้มแข็งในการต่อสู้กับกลโกงอาหาร  ในส่วนของการทำงานร่วมกับชุมชน บริษัทได้เปิดศูนย์เตรียมความพร้อมเด็กก่อนวัยเรียนไทยยูเนี่ยนแห่งที่ 4 อย่างเป็นทางการ สำหรับเด็กข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาคร

บริษัทยังได้รับการยอมรับด้านการกำกับดูแลกิจการ นวัตกรรมและความยั่งยืน ในเวทีระดับนานาชาติ ได้แก่ รางวัล “ซีอีโอและบริษัทที่ดำเนินงานนักลงทุนสัมพันธ์ยอดเยี่ยมแห่งเอเชีย ตั้งแต่ปี 2553” จากงานนิตยสาร Asiamoney    รางวัล “บริษัทมหาชนยอดเยี่ยมแห่งปี 2561” ในประเภทธุรกิจการเกษตรและอาหาร จากนิตยสารการเงินการธนาคาร  รางวัล DRIVE Award 2019 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ในประเภทอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร  นายธีรพงศ์ จันศิริและนายยอร์ก ไอร์เลได้รับรางวัล ซีอีโอยอดเยี่ยมและซีเอฟโอยอดเยี่ยม ประจำปี 2562 จากนิตยสาร Global Banking & Finance Review และดร.แดเรี่ยน แมคเบน ได้รับการรางวัลสุดยอดสตรีแห่งเอเชียในด้านความยั่งยืนจาก CSRWorks International

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line