มทร.พระนคร ติดตามความก้าวหน้า การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าขนมหวาน จังหวัดเพชรบุรี

มทร.พระนคร ติดตามความก้าวหน้า การสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าขนมหวาน จังหวัดเพชรบุรี

จากความร่วมมือระหว่างเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 8 แห่ง ในการพัฒนางานวิจัย โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) 8 ท้องถิ่น
เพื่อสร้างนวัตกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร เลือกพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดเพชรบุรี ในการทำวิจัยเพื่อส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้ ดร. ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนานำทีมนักวิจัย และบุคลากร จาก 4 คณะ ได้แก่ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการรอบ 7 เดือน พร้อมเยี่ยมชมโรงงานลุงอเนกขนมหวานเมืองเพ็ชร์ และขนมไทยลูกเจี๊ยบ ต.ท่าราบ อ.เมือง จังหวัดเพชรบุรี ระหว่างวันที่ 25 - 26 พฤศจิกายน 2562 โดยได้รับเกียรตินางสาวเบญจมาศ ตีระมาศวณิช คณะกรรมการผู้ตรวจประเมินจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ดร.อนิวรรต หาสุข ประธานเครือข่ายสถาบันวิจัยและพัฒนา ๙ มทร. รวมถึงประธานโอทอปเพชรบุรี และนายกองค์การบริการส่วนตำบลสำมะโรง ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะโครงการวิจัยแก่ผู้ประกอบการขนมหวาน ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยนำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการเพิ่มมูลค่า และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหา


ดร. ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า มทร.พระนคร ให้ความสำคัญต่ออัตลักษณ์และภูมิสังคมของพื้นที่ โดยดึงจุดเด่นของทรัพยากรท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรีที่สามารถสร้างมูลค่า คือ น้ำตาลโตนด และน้ำตาลมะพร้าว เข้ามาร่วมการทำวิจัยในการจัดการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (New Value Chain) เพื่อเป็นต้นแบบให้กับผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้กับการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตนเอง ซึ่งคาดว่าเมื่อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นขยายตัว ก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจฐานรากต่อไปได้ โดยหัวข้องานวิจัย ประกอบด้วย 1.โครงการสร้างนวัตกรรมและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ OTOP ประเภทขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพ โดย ดร.ประกอบ ชาติภุกต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา 2.โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมือง เพื่อสุขภาพและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยอาจารย์นิอร ดาวเจริญพร และทีมวิจัยคณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ 3. โครงการเพิ่มมูลค่าและการพัฒนากลยุทธ์การตลาดผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองเพื่อสุขภาพด้วยนวัตกรรมทางการตลาดดิจิทัลสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ผศ.ขวัญฤทัย วงศ์กำแหงหาญ และทีมงานคณะบริหารธุรกิจ

4.โครงการศึกษาอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรีสู่การออกแบบและพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมหวานพื้นเมืองส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน โดยอาจารย์ธานี สุคนธะชาติ และทีมงานคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และ 5. โครงการพัฒนาและสร้างเครื่องจักรสำหรับการผลิตขนมหวานพื้นเมืองแบบใหม่ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดย ดร.ชลากร อุดมรักษาสกุล และทีมวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ นับเป็นโอกาสที่กลุ่มชาวบ้านผู้ผลิต และมหาวิทยาลัยจะได้สนับสนุนการทำงานร่วมกัน ในการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนบนพื้นฐานการสร้างภูมิปัญญาและการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานตรงกับความต้องการของตลาด และนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line