ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกด่วน กสทช. ชงขยายเวลามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ในภาวะ Covid-19

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ถกด่วน กสทช. ชงขยายเวลามาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ในภาวะ Covid-19

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์  ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 ประชุมหารือร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถกมาตรการแจกเน็ตฟรี 10 GB 30 วัน สนับสนุนให้ประชาชนอยู่บ้าน ลดกิจกรรมทางสังคม และเรียน - ทำงานที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (Covid-19) ชี้จำเป็นขยายเวลามาตรการเยียวยาลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสารให้แก่นักเรียน นักศึกษา และประชาชนผู้มีรายได้น้อย


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า จากที่รัฐบาลและกสทช. ได้มีมาตรการอุดหนุนค่าบริการอินเทอร์เน็ตให้แก่ประชาชนเพื่อสนับสนุนการเรียน - ทำงานที่บ้านในช่วงเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ Covid - 19 โดยวันที่ 10 เมษายนที่จะถึงนี้ จะเปิดลงทะเบียนให้ปริมาณโมบายอินเทอร์เน็ตฟรี 10 GB และอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบ้านให้เป็น 100 Mbps ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีความห่วงใยในรายละเอียดการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน หน่วยงานรัฐ และผู้ประกอบการ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริงอันจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การปฏิบัติหน้าทีี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า จากที่ได้ประชุมเร่งด่วนกับกสทช. ในวันนี้ พบว่า ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบจ่ายรายเดือน (post paid) ประมาณ 3 - 4 ล้านเลขหมาย แบบเติมเงิน (pre paid) เข้าข่ายได้รับสิทธิ์ประมาณ 35 ล้านเลขหมาย และบริการอินเตอร์เน็ตบ้าน ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน ซึ่งมาตรการแจกโมบายอินเทอร์เน็ตฟรีนั้น จะให้เฉพาะผู้ที่ใช้โปรโมชั่นอินเทอร์เน็ตไม่เกิน 10 GB โดยจะสมทบเพิ่มให้อีก 10 GB ใช้งานได้ 30 วันหลังจากลงทะเบียนรับสิทธิ์ ส่วนอินเทอร์เน็ตบ้านจะปรับสปีดให้เป็น 100 Mbps โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ จากการหารือในมาตรการดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะให้กสทช. ดำเนินการดังนี้ 

1. พิจารณาขยายระยะเวลาใช้อินเทอร์เน็ตออกไปมากกว่า 30 วัน เป็นสามารถใช้ได้จนกว่าอินเทอร์เน็ต 10 GB ที่ได้รับสิทธิ์เพิ่มมาหมดไป โดยให้กสทช.ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ช่วยเหลือประชาชนและบ้านเมืองในภาวะวิกฤตด้วย

2. การอัพสปีดอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตบ้านให้ 100 Mbps โดยอัตโนมัตินั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการไม่เต็มแพ็คเกจ 100 Mbps ประมาณ 1 ล้านครัวเรือนเท่านั้น แบ่งเป็นประเภท adsl (สายทองแดง) ที่มีประสิทธิสูงสุด 30 Mbps และประเภทไฟเบอร์ออพติคที่มีประสิทธิภาพสูงสุด 100 Mbps ซึ่งแต่ละบ้านจะได้อัพสปีดเต็มประสิทธิภาพสูงสุดของแต่ละอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ ทั้งนี้ ให้ กสทช. ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกอบการมี sms แจ้งสิทธิ์ให้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการได้ทราบ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ให้ตรงตามความต้องการด้วย (กรณีผู้ใช้บริการมีที่พักอาศัยหลายที่) หากพบว่าไม่ตรงสิทธิ์ ให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนให้ตรงความประสงค์ของผู้ใช้บริการ

3. กรณีการขอสนับสนุนโครงการอินเทอร์เน็ตนักศึกษามายังกสทช. เนื่องจากปิดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอแนะให้ กสทช.ขอทราบความต้องการในการใช้อินเทอร์เน็ตของแต่ละสถาบันการศึกษา เพื่อการเรียนการสอนทางออนไลน์ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณราว200 - 300 ล้านบาท และหาก กสทช. มีงบประมาณไม่เพียงพอ ก็อาจขอการสนับสนุนจากรัฐบาลเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กสทช. ได้รับประเด็นข้อเสนอแนะดังกล่าวและจะเร่งหารือในที่ประชุมบอร์ดกรรมการบริหาร กสทช. เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line