ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 บาท

ผู้ตรวจการแผ่นดินเร่งตรวจสอบโครงการเงินเยียวยา 5,000 บาท

พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยนายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายเมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 ประชุมหารือกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถกประเด็นแก้ไขปัญหาเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” หลังมีประชาชนร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิ์ เหตุระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คัดกรองคลาดเคลื่อน บางอาชีพที่ได้รับผลกระทบยังตกสำรวจ พร้อมชงมาตรการเร่งช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด - 19 โดยเร็ว


พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคมได้ยื่นร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบกรณีกระทรวงการคลังพิจารณาอนุมัติเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เพื่อชดเชยรายได้แก่ลูกจ้างของสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่น ๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด - 19 ให้กับประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ด้วยเห็นว่าการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ตรวจสอบอาชีพของประชาชนที่ลงทะเบียนมีความคลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับอาชีพที่แท้จริง ทำให้หลายคนต้องเสียสิทธิ์การได้รับเงินเยียวยา อีกทั้งไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบปัญญาประดิษฐ์ว่ามาจากหน่วยงานใด อาจเป็นการนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์หรือปลอมเอกสารราชการ ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินทราบว่าขณะนี้มีทั้งผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์และผู้ที่ได้รับสิทธิ์แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาอีกจำนวนมาก จึงได้เร่งแสวงหาข้อเท็จจริงและประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อจะช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่เดือดร้อนได้ทันสถานการณ์

พลเอก วิทวัส กล่าวว่า ในวันนี้ ได้ร่วมประชุมหารือกับนายพรชัย ธีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง นายสมคิด จันทมฤก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นางแก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย (จำกัด) มหาชน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการประชุมพบว่า ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่นำไปใช้ประมวลผลคัดกรองว่าบุคคลใดมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยานั้น มาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ซึ่งขั้นตอนการลงทะเบียนจะต้องลงทะเบียนด้วยตนเอง แต่ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการได้ก็อาจจะให้บุคคลใกล้ชิดหรือผู้นำชุมชนช่วยจัดการให้ได้ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการทบทวนสิทธิ์ของผู้ที่ลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้ร่วมมือกับคลังจังหวัดซึ่งเป็นหน่วยงานในการดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ โดยจัดตั้ง “ทีมผู้พิทักษ์สิทธิ์ระดับอำเภอ” จำนวนกว่าล้านคนทั่วประเทศ เพื่อเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นรายบุคคลตามที่ยื่นทบทวนสิทธ์ และรัฐบาลยังได้ตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 เพื่อกำกับดูแลในภาพรวมถึงผู้ที่ได้รับสิทธิ์ไปแล้ว และวางแผนแนวทางแก้ไขเยียวยาให้กับผู้ที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์คนอื่น ๆ ด้วย

พลเอก วิทวัส กล่าวต่อว่า คาดว่าเร็ว ๆ นี้ รัฐบาลน่าจะดำเนินการผ่อนผันให้ธุรกิจบางสาขาสามารถเปิดกิจการได้ แต่ต้องเข้มงวดในการรักษาระยะห่างทางสังคมด้วย ส่วนการเยียวยาเงินช่วยเหลือ ขอให้รัฐบาลกระจายไปยังกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทุกสาขาอาชีพให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ทุกจังหวัด ทั้งคนที่อยู่ในเมืองและในชนบท ทั้งนี้ จากการประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1) ในขั้นตอนการทบทวนสิทธิ์และรวมไปถึงขั้นตอนที่รัฐได้จ่ายเงินเยียวยาให้กับเกษตรกรแล้ว ขอให้กระทรวงการคลังร่วมกับกระทรวงมหาดไทยเร่งเพิ่มมาตรการเชิงรุกในการช่วยเหลือประชาชนที่ตกหล่นจากการได้รับเงินเยียวยา โดยให้เข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐโดยเร่งด่วนต่อไป 2) กรณีการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกรควรที่จะให้เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ให้เป็นรายครัวเรือน และจำนวนเงินควรมีความเท่าเทียมกับผู้ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เพื่อเป็นการขจัดความเหลื่อมล้ำของประชาชน รวมทั้งสิทธิ์ในการได้รับการเยียวยาต้องไม่ซ้ำซ้อนกันด้วย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line