สวทช. จับคู่นวัตกรรม นำแอป QueQ หนุนธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ 

สวทช. จับคู่นวัตกรรม นำแอป QueQ หนุนธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ 

สวทช. จับคู่นวัตกรรม นำแอป QueQ หนุนธุรกิจท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ จัดการความหนาแน่นนักท่องเที่ยวและท่าเทียบเรือ พร้อมเดินหน้าส่งต่อนวัตกรรมในพื้นที่ ยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) นำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการในโครงการบ่มเพาะธุรกิจ นำร่องที่ แอปพลิเคชัน QueQ (คิวคิว) เข้าไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ ช่วยบริหารจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ รวมถึงความหนาแน่นของการจอดเรือในท่าเทียบเรือของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง เพื่อยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าว ตอบโจทย์ “ไร่เลย์ โมเดล” ที่มุ่งจัดระเบียบและแผนพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ พร้อมเดินหน้าทำงานร่วมกับจังหวัดกระบี่ นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่พร้อมใช้จาก สวทช. และพันธมิตร ส่งต่อเพื่อใช้งานจริงในพื้นที่ ช่วยแก้ปัญหาภาคธุรกิจท่องเที่ยวกระบี่ และเป็นจังหวัดต้นแบบท่องเที่ยวตามวิถีใหม่




นางศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สวทช. กล่าวถึงการสนับสนุนไร่เลย์โมเดล ของ สวทช. ว่า ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) เป็นหน่วยงานภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ที่สนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยี ตั้งแต่เริ่มต้นกิจการจนในที่สุดสามารถดำเนินกิจการของตนได้อย่างประสบความสำเร็จ โดยบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการนวัตกรรมภายใต้โครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Incubation) ของ สวทช. และได้รับทุน Startup Voucher หรือทุนสนับสนุนในโครงการสร้างผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ ของ สวทช. บทบาทหนึ่งที่สำคัญของศูนย์ BIC คือ การสนับสนุนการจับคู่นวัตกรรม (Innovation Matching) ระหว่างเจ้าของนวัตกรรม กับ ผู้ใช้งานจริง ดังเช่นชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล กับ บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน QueQ ด้วยการนำนวัตกรรมแอปพลิเคชันดังกล่าว ไปใช้งานจริงกับการจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในช่วงสถานการณ์หลังคลายล็อกดาวน์ รวมถึงความหนาแน่นของการจอดเรือในท่าเทียบเรือของหาดไร่เลย์ด้วย ซึ่งนับเป็นการนำเทคโนโลยีจากผู้ประกอบการในโครงการของศูนย์ BIC สวทช. เข้าไปเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่



นายสมบูรณ์ หง้าฝา ประธานชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ไร่เลย์ โมเดล เปิดเผยว่า ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง จังหวัดกระบี่ เป็นกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม และการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ มีหน้าที่รับผิดชอบและกำกับดูแลด้านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความสะอาดโดยรวมของพื้นที่ รวมถึงการดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในบริเวณพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางธรรมชาติและอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเติบโตขึ้นมาก จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเกาะเป็นจำนวนมาก เกิดความคับคั่งและก่อให้เกิดมลภาวะด้านต่าง ๆ มากมาย ดังนั้น เพื่อรักษาสภาพนิเวศและอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยั่งยืน รวมถึงยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณฝั่งทิศตะวันตก และหาดพระนาง ซึ่งเป็นหาดที่สวยที่สุดติดอันดับโลก ฉะนั้น ผู้ประกอบการในชุมชน และชมรมธุรกิจการท่องเที่ยวอ่าวไร่เลย์ฯ จึงมีความคิดเห็นรวมกันว่า ควรจัดระเบียบพื้นที่ใหม่ ภายใต้โครงการ “ไร่เลย์ โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อจัดระเบียบและแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง โดยนำปัญหาด้านการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ ที่พบ ได้แก่ ปัญหาการเข้าออกของเรือบริเวณหน้าหาดอ่าวไร่เลย์ฝั่งทิศตะวันตก และหาดพระนาง ปัญหาความไม่ปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเนื่องจากมีเรือเข้าออกตลอดเวลาทั้งวัน ส่งผลให้การพักผ่อน และการทำกิจกรรมทางน้ำ การว่ายน้ำ ดำน้ำ พายเรือคายัคของนักท่องเที่ยวไม่มีความปลอดภัย มีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุได้ทั้งสองหาด ปัญหาขยะที่มากับเรือนักท่องเที่ยว มีเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และปัญหาการใช้พื้นที่ชายหาดเกินความจำเป็น ในยามวิกาลมีเรือนักท่องเที่ยวเข้ามาทำกิจกรรมส่งเสียงดัง โดยไม่เคารพพื้นที่ เพื่อแก้ไขปรับปรุงและวางแนวทางการพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสืบไป

“โครงการไร่เลย์โมเดล จะเป็นตัวอย่างการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติของประเทศไทย โดยมีแผนการดำเนินโครงการไร่เลย์โมเดล ได้แก่ การจัดระเบียบเรือเพื่อยกระดับคุณภาพของการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไร่เลย์ ทั้ง 3 หาด หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันตก หาดอ่าวไร่เลย์ทิศตะวันออก และหาดพระนาง การจัดการลดปัญหาการนำขยะบนชายฝั่งมาทิ้งพื้นที่อ่าวไร่เลย์ ห้ามนำขยะหรือขวดน้ำเข้ามาในพื้นที่ การจัดการยกระดับความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว เช่น ติดตั้งระบบ CCTV ในเขตพื้นเส้นทางสัญจรสาธารณะ การจัดการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติควบคู่ไปด้วย โดยตั้งเป้าที่การฟื้นฟูธรรมชาติ และท้ายสุดคือการปลูกฝังจิตสำนึกต่อธรรมชาติของนักท่องเที่ยวและเยาวชนรุ่นต่อไป” ประธานชมรมฯ ไร่เลย์ โมเดล กล่าว

ด้าน นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ CEO บริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด และผู้ประกอบการนวัตกรรมในโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และ Startup Voucher ของ สวทช. เปิดเผยว่า แอปพลิเคชัน QueQ คือ แอปที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อจองคิวร้านอาหาร ที่ไม่ต้องรอ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการจัดการด้านอื่น ๆ ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่ท่องเที่ยว การสั่งอาหารกลับบ้านหรือการนั่งทานที่ร้าน การนัดหมายล่วงหน้าในร้านตัดผม ร้านเสริมสวย สปา หรือคลินิก การทำจุดรับของ (Drive Thru) ของซูเปอร์มาร์เก็ตและตลาดสด เป็นต้น โดยในส่วนของสถานที่ท่องเที่ยว แอป QueQ ได้นำมาใช้กับการจองล่วงหน้าเพื่อเข้าอุทยานแห่งชาติ โดยใช้จริงแล้วกับทุกอุทยานฯ ที่เปิดให้บริการจำนวน 127 แห่ง จากทั้งหมด 155 แห่ง และในส่วนของอ่าวไร่เลย์แหลมพระนาง จ.กระบี่ แอป QueQ ได้นำมาปรับใช้กับการจัดการเรื่องความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวของหาดไร่เลย์ ตรวจสอบคิวก่อนการเข้าเกาะ ด้วยระบบการจองคิวเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เพื่อบริหารจัดการการท่องเที่ยวตามแนวทาง Carrying Capacity โดยนักท่องเที่ยวสามารถจองใช้บริการการท่องเที่ยวล่วงหน้า ผ่านแอป QueQ เพื่อให้ง่ายต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจอง และการลงทะเบียนเข้า-ออกแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงแอป QueQ ยังสามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการความหนาแน่นของการจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือของหาดไร่เลย์ได้ด้วย สอดคล้องกับไร่เลย์โมเดล ที่มีแผนการดำเนินการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ฟื้นฟูธรรมชาติของประเทศไทย โดยแอป QueQ สามารถที่จะกำหนดจำนวนการให้บริการต่อช่วงเวลาได้ จองผ่านโมบายแอปหรือเว็บก็ได้ตามโควตาของแต่ละช่วงเวลา รวมถึงยังมีบริการจ่ายผ่านแอปด้วยช่องทางที่หลากหลาย สร้างรายงานการใช้บริการอัตโนมัติ รองรับผู้ใช้งานแบบไม่จำกัดจำนวน พร้อมมีทีมดูแลตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เวลาขึ้นระบบเพียง 1 วันเท่านั้น

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line