สปสช. ธ.ก.ส. และ สวทช. เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 เปิดตัว "เครื่องตรวจสุขภาพอัตโนมัติ"

สปสช. ธ.ก.ส. และ สวทช. เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10  เปิดตัว

เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เฉลิมพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 10 สปสช. ธ.ก.ส. และ สวทช. ร่วมเปิดตัวเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ “มิติใหม่ ธ.ก.ส. ธนาคาร กับ สุขภาพ” ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดูแลประชาชน กระจายติดตั้งครบ 100 เครื่องแล้ว ณ สาขา
ธ.ก.ส. ทั่วประเทศ ประชาชนเข้ารับบริการฟรี


นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายนิพัฒน์ เกื้อสกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สวทช. ร่วมแถลงข่าว เปิดตัวเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ “มิติใหม่ ธ.ก.ส. ธนาคาร กับ สุขภาพ” เพื่อมุ่งสร้างสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่และนักวิจัยทั้ง 3 หน่วยงานเข้าร่วมงาน ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ หลักสี่ กทม.

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เสนอโครงการ “รู้เท่าทันเท่ากับการป้องกันโรคไม่ติดต่อเฉลิมพระเกียรติ” เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฝ่ายโครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ ของสำนักนายกรัฐมนตรีแล้วนั้น มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ และส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ตระหนักเรื่องการป้องกันดูแล สร้างเสริมสุขภาพตนเองให้มีสุขภาพดี และเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม รวมถึงการป้องกันไม่ให้เกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อ หรือ Non-communicable diseases-NCDs เพื่อป้องกันความรุนแรงของโรค โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัตินี้ และได้ลงนามความร่วมมือ 3 หน่วยงาน เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา

เป้าหมายความร่วมมือในครั้งนี้ คือจัดให้มีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติที่สาขา ธ.ก.ส. และพื้นที่ในการกำกับดูแลของ สปสช. จำนวน 100 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่ง สวทช. ได้ดำเนินการติดตั้งและเปิดใช้งานจริงครบทั้ง 100 แห่งแล้ว ครอบคลุม 77 จังหวัด ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และนำมาสู่การเปิดตัวเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ภายใต้แนวคิด “มิติใหม่ ธ.ก.ส. ธนาคาร กับ สุขภาพ” เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและใช้ประโยชน์เข้าถึงบริการสุขภาพในขั้นพื้นฐาน

นายนิพัฒน์ เกื้อสกุล รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า  ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับโครงการดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนรู้เท่าทันด้านสุขภาพ และตระหนักเรื่องป้องกันดูแลและสร้างเสริมสุขภาพของตนเองให้มีสุขภาพดี สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ธ.ก.ส. ในการเพิ่มขีดความสามารถของเกษตรกรไทยและครอบครัว ซึ่งมีเป้าหมายให้คุณภาพชีวิตเกษตรกรและครอบครัวดีขึ้น ทำให้ประชาชน เกษตรกรและครอบครัว มีความรู้ และตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพรู้เท่าทันป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นการป้องกัน ส่งผลให้มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) มีความยินดีในความร่วมมือในการพัฒนาและติดตั้งเครื่องตรวจวัดสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ในการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาร่วมดูแลสุขภาพประชาชน ขณะเดียวกันโครงการดังกล่าวยังสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ และผลักดันให้เกิดการขยายผลเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้ก้าวสู่สังคมที่มีคุณภาพด้านสุขภาพ การแพทย์ และตอบโจทย์ประชาชนคนไทยให้ดีขึ้น และยังสอดรับกับแนวทางในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

การใช้งานเครื่องตรวจสุขภาพเบื้องต้นอัตโนมัติ ประกอบด้วยการชั่งน้ำหนัก บันทึกค่าส่วนสูง วัดความดันโลหิต การประมวลผลดัชนีมวลกาย โดยผลของการวัดที่ได้จะถูกแปลค่าและประเมินระดับความเสี่ยงด้านสุขภาพ มีข้อมูลให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ทั้งข้อมูลนี้จะถูกส่งไปที่ระบบคลาวด์ (Cloud) เพื่อเก็บข้อมูลผู้ถูกวัดแต่ละคนไว้ เพื่อติดตามความคืบหน้าระบบสุขภาพที่เป็นระบบข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่ง สปสช. สามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์และติดตามข้อมูลสุขภาพประชาชน ตลอดจนนำไปกำหนดนโยบายสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่แต่ละภูมิภาคได้  

“อย่างไรก็ตามระบบระบบคลาวด์ (Cloud) จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือช่วยเสริมการจัดเก็บข้อมูลที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ได้ทำอยู่แล้วนั้นให้เป็นระบบมากขึ้น ทั้งนี้ในอนาคตทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอด ให้เครื่องฯ ให้มีฟังก์ชันเซ็นเซอร์เพิ่มเติม เช่น เซ็นเซอร์การตรวจวัดสารพิษในร่างกายให้แก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าหลัก ของ ธ.ก.ส. ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อการกำหนดนโยบายการป้องกันสุขภาพ แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งเครื่องนี้จะเป็นการผลักดันให้เกิดการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถต่อยอดนำไปสู่การใช้งาน และตอบโจทย์เทคโนโลยีที่จะช่วยในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line