ม.มหิดล เดินหน้าโครงการ "ข้าวเป็นยา" ผลิตข้าวเกษตรอินทรีย์เพิ่มรายได้ชุมชน

ม.มหิดล เดินหน้าโครงการ

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินโครงการ "ข้าวเป็นยา" โดยริเริ่มวิจัยทดลองปลูกข้าวสินเหล็กอินทรีย์ และข้าวกล้อง กข.43 อินทรีย์ ที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำตาลในร่างกาย ควบคุมการผลิตโดย หลักสูตร วท.บ.(เกษตรศาสตร์) ซึ่งนอกจากเป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนของหลักสูตรแล้ว ยังเป็นการส่งเสริม Entrepreneurial Mindset ซึ่งเป็นการเสริมสร้างทักษะให้นักศึกษามีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อสนองรับนโยบาย 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยโลกของมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาสู่การเป็น "Entrepreneurial University" หรือ "มหาวิทยาลัยผู้ประกอบการ" ต่อไป


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่า ข้าวสินเหล็ก และข้าวพันธุ์ กข.43 มีน้ำตาลต่ำ ดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ที่รักสุขภาพทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าวสินเหล็กมีธาตุเหล็กสูง ดีต่อสตรีมีครรภ์ และเด็กที่อยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต โดยหลักสูตร วท.บ.(เกษตรศาสตร์) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้ทดลองปลูก และปรับปรุงข้าวทั้ง 2 สายพันธุ์ จนได้ผลผลิตดี เป็นข้าวที่ทานอร่อย มีกลิ่นหอม เหนียวนุ่ม หุงขึ้นหม้อ และได้รับการตราเครื่องหมาย Q หรือตรารับรองมาตราฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) จาก กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมาตราฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic Thailand) ซึ่งเป็นการประกันความมั่นใจให้กับผู้บริโภค 

"มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับ 1 ของประเทศไทย จากการจัดอันดับโดยสถาบันชั้นนำด้านการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกต่างๆ โดยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เราจึงมีความใส่ใจอย่างยิ่งต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงได้ดำเนินโครงการ “ข้าวเป็นยา” ปลูกข้าวสินเหล็ก และข้าวพันธุ์ กข.43 ด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ที่ดีต่อสุขภาพของทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค และระบบนิเวศ โดยเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวที่มีคุณภาพสูง และปลอดภัยจากสารพิษ รวมทั้งเป็นการอนุร้กษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้นแบบในการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืน และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ซึ่งก้าวต่อไปนอกจากจะส่งข้าวเพื่อผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาลที่อยู่ในชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญแล้ว จะขยายผลสู่ตลาดออนไลน์อีกด้วย" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิทยา แก้วศรี กล่าวทิ้งท้าย

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line