2 ตั๊กแตนประสานเสียงไม่เสี่ยงเข้าไทย ตอกย้ำสภาพอากาศไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์

2 ตั๊กแตนประสานเสียงไม่เสี่ยงเข้าไทย  ตอกย้ำสภาพอากาศไม่เข้ากับไลฟ์สไตล์

กรมวิชาการเกษตร  ย้ำนักเปิบแมลงไม่ต้องรอ 2 ตั๊กแตนคอนเฟิร์มไม่เข้าไทย  เคลียร์พบระบาดในลาวเป็นตั๊กแตนไผ่พลิกไทม์ไลน์ 4 ปีวนเวียนระบาดพื้นที่เดิม ส่วนตั๊กแตนทะเลทรายพบระบาดล่าสุดในอินเดีย  ยันสภาพอากาศเมืองไทยไม่เป็นใจให้ 2 ตั๊กแตนตั้งรกรากและขยายเผ่าพันธุ์


นางสาวเสริมสุข  สลักเพ็ชร์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  ชี้แจงกรณีมีข่าวฝูงตั๊กแตนระบาดในพื้นที่ทางตอนเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) อยู่ในขณะนี้ว่า สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช  กรมวิชาการเกษตร  ได้ตรวจสอบแล้วพบเป็นตั๊กแตนไผ่ที่มีรายงานการระบาดอยู่ที่สปป.ลาว มาตั้งแต่ปี 2559 แล้ว  ซึ่งในช่วงที่พบการระบาดของตั๊กแตนไผ่กรมวิชาการเกษตรได้ส่งนักวิจัยเข้าไปติดตามสถานการณ์การระบาดของตั๊กแตนไผ่ใน สปป.ลาวอย่างใกล้ชิด  จนถึงปัจจุบันพบว่าตั๊กแตนไผ่ยังคงระบาดวนเวียนอยู่ในพื้นที่เดิมของสปป.ลาวตอนเหนือ  ซึ่งมีสภาพเป็นภูขาและป่าไผ่   มีสภาพอากาศหนาวเย็น และฝูงตั๊กแตนบางส่วนระบาดเข้าไปทางตอนเหนือของเวียดนาม  จึงขอยืนยันว่าเป็นตั๊กแตนคนละชนิดกับตั๊กแตนทะเลทรายที่พบการระบาดในอินเดียและแอฟริกาตามที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้   

ตั๊กแตนไผ่ชอบอากาศค่อนข้างเย็นและมีต้นไผ่ในธรรมชาติจำนวนมาก  ในขณะที่ประเทศไทยมีสภาพอากาศร้อนชื้นไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของแมลงชนิดนี้   ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะเข้ามาระบาดในประเทศไทย  นอกจากพืชกลุ่มไผ่แล้วแมลงชนิดนี้ยังเป็นศัตรูพืชที่สำคัญของพืชในตระกูลหญ้า  และยังพบว่าสามารถเข้าทำลายพืชตระกูลปาล์มและพืชล้มลุกบางชนิด ดังนั้นกรมวิชาการเกษตรจึงได้ดำเนินการสำรวจและเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการเข้ามาระบาดในประเทศไทย  โดยใช้กับดักเหยื่อพิษวางตามแนวชายแดนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง   พร้อมกับตรวจกับดักทุก 3 วันและ 7 วัน ตรวจเช็คชนิดของตั๊กแตนที่ตายบริเวณกับดักโดยเปรียบเทียบกับรูปภาพตั๊กแตนไผ่  ในกรณีที่พบมีลักษณะใกล้เคียงตามภาพตัวอย่างให้เก็บตัวตั๊กแตนนำส่งที่สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืชเพื่อนำมาจำแนกชนิดว่าเป็นตั๊กแตนไผ่หรือไม่   โดยได้ดำเนินการเฝ้าระวังตามวิธีการดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบันยังไม่พบตั๊กแตนไผ่เข้ามาระบาดในประเทศไทย

การป้องกันกำจัดตั๊กแตนไผ่ในกรณีพบในเขตประเทศไทย  ให้ทำการป้องกันกำจัดโดยใช้สารฆ่าแมลงชนิดใดชนิดหนึ่ง ดังนี้ อีโทเฟนพรอกซ์ 20% EC อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือเดลทาเมทริน 3% EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือแลมป์ดาไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มล./น้ำ 20 ลิตร  การป้องกันกำจัดโดยนำมาบริโภคไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากตั๊กแตนไผ่ลำตัวมีความแข็ง  รสชาติขม  และมีกลิ่นเหม็น 

อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  กล่าวว่า ส่วนตั๊กแตนอีกชนิดหนึ่งพบระบาดอยู่ที่อินเดียและเริ่มเข้าไปในเนปาลและตอนใต้ของจีนในขณะนี้ เป็น "ตั๊กแตนทะเลทราย" เป็นการระบาดต่อเนื่องมาจากทวีปแอฟริกา ก่อนระบาดเข้ามาทางประเทศแถบตะวันออกกลาง และอินเดีย เป็นตั๊กแตนที่อพยพเป็นกลุ่มใหญ่  สามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว  กินพืชได้หลายชนิดและกินได้ทุกส่วนของพืช  เช่น ข้าว ข้าวโพด  ข้าวฟ่าง  ข้าวบาเล่ย์  อ้อย  ไม้ผล และพืชผัก  หากมีการระบาดจะเกิดความเสียหายรุนแรง  รวดเร็วและเป็นบริเวณกว้าง  โดยสถานการณ์ล่าสุด FAO รายงานว่าตั๊กแตนทะเลทรายแพร่ระบาดในรัฐราชสถานซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย   ซึ่งได้มีการพยากรณ์ว่าตั๊กแตนที่ระบาดในภาคเหนือมีแนวโน้มระบาดในเขตภาคตะวันออกและตะวันตกของประเทศอินเดียในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้   ก่อนที่จะกลับไปวางไข่ในรัฐราชสถานช่วงเริ่มเข้าฤดูมรสุม   โดยการระบาดในขณะนี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการขยายพันธุ์  

“ตั๊กแตนที่พบการระบาดอยู่ในขณะนี้ที่สปป.ลาว และอินเดียเป็นตั๊กแตนต่างชนิดกัน  ยืนยันว่าจะไม่เข้ามาระบาดในประเทศไทย  เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไม่เหมาะสมกับการตั้งรกรากและขยายเผ่าพันธุ์ของตั๊กแตนทั้ง 2 ชนิดนี้  อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรได้ทำแผนเชิงรุกเฝ้าระวังการระบาดของตั๊กแตนทั้ง 2 ชนิดนี้ไว้พร้อมแล้ว  รวมทั้งยังคอยติดตามสถานการณ์การระบาดอยู่อย่างใกล้ชิด  หากมีความความคืบหน้ากรมวิชาการเกษตรจะแจ้งให้ทราบต่อไป” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line