สผ. และ UNDP ปล่อยสารคดีฟีลกู๊ด “พรุบ้านฉัน” ดึง “อนันดา เอเวอริงแฮม”ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

สผ. และ UNDP ปล่อยสารคดีฟีลกู๊ด “พรุบ้านฉัน” ดึง “อนันดา เอเวอริงแฮม”ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยแพร่สารคดี “พรุบ้านฉัน” ความยาว 9.22 นาที บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญของป่าพรุที่มีต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และสัตว์ป่า รวมถึงประโยชน์ของป่าพรุในการกักเก็บคาร์บอนซึ่งช่วยในการลดโลกร้อน และการเป็นเกราะป้องกันภัยทางธรรมชาติ ดำเนินเรื่องโดยนักแสดงหนุ่ม อนันดา เอเวอริงแฮม และชาวบ้านบริเวณพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง จังหวัดนครศรีธรรมราช  


ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรือ อนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) ลำดับที่ 110 และสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ได้กำหนดหัวข้อวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก 2563 คือ“พื้นที่ชุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ (Wetlands and Biodiversity) ในโอกาสนี้   
สผ. และ UNDP จึงได้จัดทำและเผยแพร่สารคดี “พรุบ้านฉัน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมศักยภาพการจัดการระบบนิเวศป่าพรุ เพื่อเพิ่มความสามารถการกักเก็บคาร์บอนและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายทางธรรมชาติของป่าพรุ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ อีกทั้ง ต้องการให้สาธารณะชนรับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของป่าพรุในการกักเก็บและดูดซับคาร์บอน ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลดโลกร้อน

รวมถึงก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้าน ในการร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าพรุ การเฝ้าระวังไฟป่าซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อระบบนิเวศ ตลอดจนการป้องกันบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการเกษตร ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยหวังว่าสังคมจะตระหนักถึงปัญหาและมองเห็นคุณค่าของป่าผ่านมุมมองการเล่าเรื่องของสารคดีพรุบ้านฉัน และหวงแหนความสมบูรณ์ของธรรมชาติระบบนิเวศป่าพรุให้มีความยั่งยืนต่อไปทั้งนี้ เนื่องในวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันป่าไม้โลก (International Day of Forests) เพื่อให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ และอนุรักษ์ป่าไม้ สผ. และ UNDP จึงใช้โอกาสนี้เผยแพร่สารคดีดังกล่าว

“ป่าพรุเปรียบเหมือนหม้อข้าวของคนใต้ หลายคนต้องพึ่งพาป่าพรุทั้งในชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพ การปล่อยให้ป่าพรุถูกทำลายก็เหมือนการทุบหม้อข้าวของพวกเขา นอกจากนี้ ป่าพรุยังช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าพรุทำหน้าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนเป็นล้านๆตัน อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ป่าพรุถูกทำลายไปมากทั้งจากการพัฒนาที่ดิน การตั้งถิ่นแบบถูกและผิดกฎหมาย และไฟป่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติจึงร่วมกับภาคประชาสังคม และรัฐบาลสร้างความตระหนักรู้เรื่องการอนุรักษ์ป่าพรุ นอกจากนี้ ยังจัดหาเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เพื่อปรับปรุงการจัดการทรัพยากรในป่าพรุ” นายเรอโน เมแยร์ ผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยกล่าว

ติดตามและข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับป่าพรุ ได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก Peat Swamps Thailand และ เว็บไซต์ www.peatswamps.com 

REALATED NEWS

Comments

Share Tweet Line